จับกระแส อสังหาฯ

เผย ราคาที่ดินอีสานพุ่งพรวด อานิสงส์ AEC-ทุนใหญ่บุก-แรงส่ง 2 ล้านล้าน ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ สำรวจราคาที่ดินหัวเมืองรองแพงขึ้น 1-10 เท่า "นครพนม" จาก 2-3 ล้าน/ไร่ เป็น 10-20 ล้าน "มหาสารคาม" ขยับ 7 เท่า 4 ล้าน/ไร่ ส.อสังหาฯ ชี้เก็งกำไรปั่นราคาเว่อร์ ชนวนฟองสบู่ จัดสรร-คนซื้อบ้านอ่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมาราคาที่ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับสูงขึ้นเร็วมาก ไม่เฉพาะจังหวัดหลักอย่างนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี แต่ผลสำรวจของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุชัดว่าที่ดินใน 9 จังหวัดรอง คือ มหาสารคาม นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ยโสธร บึงกาฬ และมุกดาหาร ปรับขึ้นพรวดเช่นกัน 1-10 เท่า

นครพนมแพงขึ้น 10 เท่า

จากข้อมูล REIC พบว่า มหาสารคาม ซึ่งเป็นเมืองมหาวิทยาลัยราคาที่ขึ้นเร็วตั้งแต่ปี 2553 อาทิ ถ.ดอนนา ปรับขึ้น 7 เท่า จากไร่ละ 5.5 แสนบาท เป็นไร่ละ 4 ล้านบาท ปัจจัยมาจากการเติบโตของเมือง ปัจจุบันมีโครงการจัดสรรเปิดขายอยู่ประมาณ 1,000 หน่วย และมีโครงการคอนโดฯ กัลปพฤกษ์ ของ บมจ.ซี.พี.แลนด์ 320 ยูนิต ราคายูนิตละ8 แสน-1.5 ล้านบาท

จังหวัดนครพนม มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยราคาที่ใกล้สะพานเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากไร่ละ 4-5 หมื่นบาท เป็นไร่ละ 4-5 แสนบาทส่วนราคาริมแม่น้ำโขงใน อ.เมือง ปรับขึ้น 5-10 เท่า จากไร่ละ 2-3 ล้านบาทเป็น 10-20 ล้านบาท จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่ปลายปี 2554 มีศูนย์ค้าวัสดุและห้างสรรพสินค้าเข้ามาลงทุนมากขึ้น อาทิ โฮมโปร ไทวัสดุ โกลบอลเฮ้าส์ โรบินสัน ส่งผลให้ราคาที่ดินปรับขึ้นเร็วในช่วง 1-2 ปี อย่างที่ดิน ถ.บายพาส ปรับขึ้น4 เท่า จากไร่ละ 6 แสนบาท เป็น 2.4 ล้านบาท

ร้อยเอ็ด-บึงกาฬ ไร่ละ 15 ล้าน

จังหวัดร้อยเอ็ด หลังจากมีห้างจากส่วนกลางเข้ามาเปิดสาขา ที่ดินละแวกใกล้เคียงก็ปรับขึ้น 3-4 เท่า จากไร่ละ 3 ล้านบาท เป็น 10-12 ล้านบาท จังหวัดชัยภูมิ ราคาที่ดินใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ปรับขึ้น 4 เท่า จากไร่ละ 5 แสนบาทเป็น 2 ล้านบาทจังหวัดยโสธร ที่ดินปรับขึ้นเท่าตัว เช่น ถ.แจ้งสนิท จากไร่ละ 4 ล้านบาท เป็น 8 ล้านบาท จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 ราคาที่ก็ปรับขึ้น 3-4 เท่าตัว อย่างทางหลวงสาย 212 หลังจากห้างบิ๊กซีมาซื้อที่ก็ทำให้ที่ดินแถวนั้นแพงขึ้น 3 เท่า จากไร่ละ 3-4 ล้านบาท เป็นไร่ละ 10-15 ล้านบาท และจังหวัดมุกดาหาร ราคาที่ดินปรับสูงมาตลอด โดยเฉพาะในเขตเมืองริมแม่น้ำโขง จากไร่ละ 3-4 ล้านบาท เป็น 7-8 ล้านบาท

ชี้แรงส่ง 3 ปัจจัย

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการ REIC ธอส. กล่าวว่า ภาคอีสานช่วง 1-2 ปีนี้ เศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าภาคอื่น ๆ ส่งผลให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้นจากจังหวัดหลักไปถึงจังหวัดรอง โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 การลงทุนอสังหาฯในภูมิภาคของผู้ประกอบการส่วนกลาง และการตื่นตัวจากโครงการลงทุน 2 ล้านล้านของรัฐบาล

ดร.กริช แรงสูงเนิน คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เปิดเผยว่า ที่ดินรอบมหาวิทยาลัยก็แพงขึ้นถึง 3 เท่าตัว จากไร่ละ 80,000 บาทปัจจุบันอยู่ที่ไร่ละ 2.5-3 ล้านบาท เพราะมีโครงการใหม่เกิดขึ้นมากและหวังจะรองรับกลุ่มลูกค้ามหาวิทยาลัย

ด้านนายอนุชิต สกุลคู กรรมการบริหาร บริษัท เจียงอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีความเห็นที่แตกต่างว่า ราคาที่ดินโดยรวมของหนองคายแม้จะแพงขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่เกินเท่าตัว เป็นราคาที่พอรับได้ ส่วนใหญ่ซื้อที่ไปเพื่อพัฒนา ดีกว่าปล่อยให้ทิ้งร้างไว้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

3 นายกอสังหาฯเตือน

นายอธิป พีชานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมธุรกิจจัดสรร ให้ความเห็นกับ"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โครงการ 2 ล้านล้านถ้าเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองตามสถานี ในปีหน้าศุภาลัยมีแผนจะลงทุนในภาคอีสานต่อเนื่อง อาทิ อุดรธานี 1-2 โครงการ ขอนแก่น 1-2 โครงการ อุบลราชธานี 2 โครงการ และเลือกทำเลบริเวณรอบนอก เพื่อเลี่ยงการแข่งขันซื้อที่ดินในเมืองที่แพงขึ้นมาก

"ภาวะราคาที่ดินในอีสานตอนนี้ถือเป็นสัญญาณของการปั่นราคา ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งในแง่การพัฒนาโครงการ และการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค"

นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ราคาที่ปรับขึ้น 5-10 เท่าในจังหวัดรองของอีสานถือเป็นการเก็งกำไรที่ดิน เนื่องจากประเทศไทยจะเปิดรับเออีซีและรัฐมีโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท นายทุนจึงฉวยโอกาส เช่น ที่นครพนม ใกล้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ปรับขึ้นเป็นไร่ละ10-20 ล้านบาท ถือว่าไม่สมเหตุสมผล ซื้อมาแล้วก็ทำบ้านจัดสรรไม่ได้ ต้องเป็นคอนโดฯเท่านั้น แล้วเมืองแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างคอนโดฯ ต่างกับกรุงเทพฯหรือโตเกียว

"ราคาที่ตอนนี้เหมือนฝันกลางวัน ผมเป็นห่วงปัญหาการปั่นราคาจะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ แล้วผู้บริโภคต้องมาซื้อบ้านราคาแพงขึ้น" นายธำรงกล่าว

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า สาเหตุที่ราคาที่ดินในอีสานแพงขึ้นเร็วมาก มาจาก 1.ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือตระกูลที่ถือครองไว้ไม่กี่ราย และ 2.มีการเก็งกำไรดันราคาที่ดินขึ้น เหมือนที่กรุงเทพฯ จังหวัดใหญ่ ขอนแก่น อุดรธานี บางแปลงประกาศขายตารางวาละ 1-2 แสนบาท ถือว่าแพงเกินไร้เหตุผล

บิ๊กจัดสรรพร้อมลุย

นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หากรัฐบาลลงทุนโครงการ 2 ล้านล้าน เชื่อว่าจะเป็นตัวจุดประกายความเจริญให้กับภูมิภาค ทั้งจังหวัดหัวเมืองหลักและหัวเมืองรอง เห็นได้ชัดจากรถไฟฟ้าบีทีเอส รถใต้ดิน ซึ่งที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าเกิดขึ้นมากมาย จึงมีข้อเสนอว่ารัฐควรจะต้องก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 สายจะเป็นผลดีต่อธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งภาพรวมทั่วประเทศจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-7% แต่ที่กรุงเทพฯและปริมณฑลโตเฉลี่ย 10%ตามแผนปีหน้า พฤกษาฯจะเริ่มรุกหนักตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานเพราะพฤกษาฯใช้ระบบก่อสร้างสำเร็จรูปดังนั้นจังหวัดไหนที่ศักยภาพยังไม่สูงการเปิดโครงการจะใช้วิธีรวมเป็นกลุ่ม 2-3 จังหวัด เพื่อให้มีวอลุ่มการขายขั้นต่ำเดือนละ 10 หลัง

รายงานข่าวแจ้งว่า บมจ.ซี.พี.แลนด์ก็ขยายการลงทุนคอนโดฯในจังหวัดรองมากขึ้น อาทิ สกลนคร มหาสารคาม และปี 2557 มีแผนจะลงทุนที่นครพนม มุกดาหาร หนองคาย อำนาจเจริญ ฯลฯ ขณะที่ บมจ.แสนสิริ อยู่ระหว่างศึกษาตลาดจังหวัดหนองคาย

ธปท.จับตาราคาที่ดินร้อนแรง

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.กล่าวว่า ทิศทางการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.นำมาพิจารณาในการประเมินทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอยู่ จากตัวเลขเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาที่ราคาที่ดินในต่างจังหวัดเริ่มมีการขยับขึ้น ส่วนจะมาจากประเด็นการเก็งกำไรล่วงหน้าเพื่อรองรับการลงทุนของภาครัฐ หรือการเปิดเออีซีในอนาคตนั้น เป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องติดตาม เพราะปัจจัยดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน หากเติบโตร้อนแรงมากขึ้น

นายศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการเงินการธนาคาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ราคาที่ดินตามหัวเมืองใหญ่ในพื้นที่ต่างจังหวัดปรับราคาขึ้นไปค่อนข้างสูง โดยสูงกว่าราคาที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยสาเหตุเกิดจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลและการรวมกลุ่มของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ได้กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคมากขึ้น ประกอบกับหัวเมืองต่าง ๆ ยังมีความต้องการอยู่ค่อนข้างมาก

"ตอนนี้ราคาที่ดิน ที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างรุนแรง เพราะส่วนใหญ่มองเห็นโอกาสจากความเจริญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงซื้อเพื่อรอประโยชน์ทางธุรกิจ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเก็งกำไรอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้ถือว่าน่าเป็นห่วงเพราะโอกาสทางธุรกิจในอนาคตก็มีอยู่จริง"
ที่มา : PRACHACHAT.NET

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น